Friday, July 19, 2019

การวิเคราะห์โปรเจคท์ในฝัน : ศึกษาโมเดลธุรกิจที่ใหม่ล่าสุด ก่อนการตัดสินใจเปิดธุรกิจจริง

การวิเคราะห์โปรเจคท์ในฝัน : ศึกษาโมเดลธุรกิจที่ใหม่ล่าสุด ก่อนการตัดสินใจเปิดธุรกิจจริง
.
บ่อยครั้งที่คนที่เริ่มลงทุนกระโจนเข้าไปทำเปิดธุรกิจใด ๆ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย อาศัยใจล้วน ๆ และ ในการเริ่มทำธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ผิดและไม่แปลกอะไร นักธุรกิจมากมายที่ประสบความสำเร็จก็เริ่มมาแนวคิดของการกระโจนลงไปแล้วไปเสี่ยงเอาข้างหน้าแบบนี้
.
แต่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารที่แค่ปลายนิ้ว เราสามารถประหยัดเวลา และ ประหยัดความเสี่ยงมากมายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำไปเรียนรู้ไป ด้วยการทำการศึกษาโมเดลธุรกิจที่เราคิดจะเปิดก่อน เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาไม่นาน ทุกคนสามารถทำได้ และมันช่วยให้ธุรกิจของเราที่คิดจะทำ ทันยุค ทันสมัย ไม่ตกเทรนด์ ยั่งยืนและไปได้กับโลกยุคที่อะไรก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้ครับ
.
วิธีการศึกษาโมเดลธุรกิจที่เราสนใจ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยผมไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านเลยครับ เพียงปรึกษาพี่ Goo ก็น่าจะได้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงพอ โดยให้เราเริ่มจากการหาดูตัวอย่าง โปรเจคท์ที่เราอยากทำ มาเป็นกรณีศึกษาครับ อาจจะเป็นโครงการที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน หรือเป็นโครงการยอดนิยม เพื่อสร้างความเข้าใจแก่เราในหลายๆ เรื่องครับ
.
ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ของธุรกิจที่เราสนใจว่า ในปัจจุบันนี้ธุรกิจที่ว่า เค้ามีแนวคิดแบบไหน เค้าให้บริการอย่างไร มันอาจจะไปไกลกว่าที่เราคิดก็ได้นะครับ และอาจจะทำให้เราสามารถเอามาปรับใช้กับโปรเจคท์ของเราได้ ซึ่งนอกเหนือไปจากเทรนด์แล้ว การเข้าไปดูรายละเอียดต่าง ๆ ของกรณีศึกษานั้น ๆ จะช่วยสร้างความเข้าใจเชิงเทคนิคให้เราได้อย่างมากมายครับ
.
ผมเสนอว่าให้ลองหาอย่างน้อยกรณีศึกษานอกประเทศสิบตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจว่าเทรนด์โลกในเรื่องประเภทธุรกิจของเรานั้นมันไปถึงไหนกันแล้วครับ และกรณีศึกษาในประเทศอีกสิบตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจว่า แล้วในไทย เทรนด์ที่กำลังได้ครับความนิยมคืออะไร เพื่อเราจะได้นำสองส่วนนี้มาพิจารณาร่วมกันครับ
.

.
ผมอยากเสนอลิสท์ง่ายๆ ที่เวลาเข้าไปศึกษาโปรเจคท์กรณีศึกษาดังนี้ครับ โดยผมขอยกตัวอย่างว่าหากเรามีไอเดียอยากเปิดโรงแรมราคาประหยัดประกอบไปด้วย จะได้นึกภาพออก
.
1. โครงการชื่ออะไร – เขียนชื่อโครงการ และประเทศไว้ครับ พร้อมปีที่สร้างเสร็จด้วยครับ เราจะได้รู้ว่ามันเก่าใหม่อย่างไร เพราะบางทีเราอาจจะพบว่ามันใหม่เกินไป ไม่เวิร์คสำหรับบ้านเรา หรือมันเก่าเกินไปไม่เหมาะก็เป็นไปได้
.
2. แนวคิด/จุดขายของโครงการคืออะไร – ลองหาอ่านดูให้เข้าใจครับ เช่นถ้าเราค้นเรื่อง โรงแรมราคาประหยัด โครงการนี้เค้าเสนอความประหยัดให้แก่ลูกค้าได้อย่างไร แตกต่างจากโรงแรมราคาประหยัดอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไร เช่น ลูกค้าเลือกได้ โดยทางโรงแรมมีลิสท์ให้เลือกได้ว่าในห้องจะเอาอุปกรณ์ความสะดวกอะไรบ้าง ผ่านการจองออนไลน์ไว้ก่อน เช่นลูกค้า A อาจจะอยากได้ทีวี อินเตอร์เน็ต ในขณะที่ลูกค้า B เน้นประหยัดที่สุด ขอห้องอย่างเดียวไม่ต้องการอะไรเลย เป็นต้น
.
3. กลุ่มลูกค้าเป็นใคร - เป็นคนชาติไหน เป็นส่วนใหญ่ อายุเท่าไหร่ มีไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร เพศไหน ลักษณะการเดินทางเป็นแบบใด เดี่ยว หรือกลุ่ม พวกเขามีอุปกรณ์อะไรติดตัวบ้าง ข้อมูลพวกนี้บางทีอาจจะหาไม่เจอในเว็บไซต์หรือเพจของโรงแรมเอง แต่เราสามารถหาอ่านได้จากเว็บรีวิวต่าง ๆ ว่าลูกค้าเป็นใครครับ และเราสามารถไปตามส่องลูกค้าต่าง ๆ ที่มารีวิวต่อ ว่าเค้ามีไลฟ์สไตล์แบบไหนได้ด้วย ซึ่งเราอาจจะพบข้อมูลอะไรดี ๆ เช่นเราอาจจะพบว่านักท่องเที่ยวที่มาพักแบบประหยัดเป็นคนรักธรรมชาติ ไม่ชอบอยู่ในพื้นที่ปรับอากาศ ให้การสนับสนุนสินค้าแบบออแกนิค ข้อมูลพวกนี้ส่งผลต่อการสร้างโปรเจคท์ของเราแน่นอนครับ เราอาจจะเลือกให้ห้องพักของเราส่วนใหญ่ ไม่มีแอร์เลยก็ได้ หรือร้านอาคารของเราเน้นสายออแกนิคไปเลยแบบนี้ครับ
.
4. ให้บริการอะไร - ห้องพักมีกี่แบบ กี่ราคา แต่ละแบบเป็นอย่างไร มีอะไรเสนอบ้าง นอกเหนือไปจากห้องพักแล้วมีอะไรอีก มีพื้นที่อำนวยความสะดวกอะไรบ้าง ลิสท์ออกมาให้หมดเลยครับ
.
5. ช่วงราคาเท่าไหร่ – ลิสท์แยกเป็นส่วนๆ เพื่อมาคำนวณเลยครับ ว่าห้องพักต่ำสุดกี่บาท อาหารต่ำสุดกี่บาท ค่าใช้จ่ายในโรงแรมต่ำสุดกี่บาท เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า ลูกค้าจ่ายให้โรงแรมกรณีศึกษาของเรากี่บาทต่อวันทั้งในแบบต่ำที่สุด และสูงที่สุด
.
6. พื้นที่อาคารเท่าไหร่ – อันนี้อาจจะต้องใช้ความรู้ทางสถาปัตยกรรมอยู่บ้างในการอ่านว่ามีขนาดพื้นที่อาคารประมาณเท่าไหร่ โดยเราอาจจะพยายามหาแปลนของอาคารกรณีศึกษามาดูครับ แล้วลองคำนวณคร่าวๆ ว่ามีขนาดเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะสามารถรู้ได้เลยว่า งบประมาณอาคารเค้าเป็นเท่าไหร่ เช่น โรงแรมสามสิบห้องพร้อมส่วนอื่นๆ เค้าใช้พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างเบื้องต้นสำหรับอาคารรวมอินทีเรียคือ แบบประหยัด คือ ตารางเมตรละ 30,000 บาท ทำให้โครงการโรงแรมสามสิบห้องใช้เงินเบื้องต้นประมาณ 30 ล้านบาท
.
7. อาคารประกอบไป ด้วยกี่ส่วนอะไรบ้าง – มาดูรายละเอียดครับว่าในโรงแรม มีส่วนอะไรบ้าง เช่น ส่วนห้องพัก ส่วนห้องอาหาร ส่วนพักผ่อนกลางแจ้ง เพื่อที่เราจะได้เอามาดูเป็นไอเดียว่า โรงแรมของเราต้องมีส่วนนั้น ๆ มั้ย เหมาะกับกลุ่มลุกค้าเรารึเปล่า
.
8. ตั้งอยู่ที่ไหน อยู่ในย่านแบบใด – นอกเหนือไปจากเรื่องโครงการที่เราเรียนรู้ได้ เรายังสามารถเรียนรู้เรื่องโลเคชั่น การเลือกที่ตั้งของเค้าได้ด้วยนะครับ ว่าเค้าอยู่ที่ไหน เช่นเราอาจจะพบว่า โรงแรมราคาประหยัดส่วนใหญ่ แบ่งเป็นสองแบบในส่วยนโลเคชั่นคือ อยู่ชานเมือง ที่ลูกค้าสามารถขับรถ และสามารถใช้ขนส่งมวลชนที่สามารถเดินทางมาจากสนามบินได้ เพราะที่ดินราคาถูก หรือ ตั้งอยู่ในเมืองแต่เป็นการนำอาคารเก่าที่หมดคุณค่าทางเศรษฐกิจมาทำการปรับปรุงเช่นเอาโรงงานเก่ามาปรับปรุง เอาโรงพยาบาลเก่ามาปรับปรุง ความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเลือก ที่ดินของโปรเจคท์ของเราได้ครับ
.
9. ลักษณะของที่ดินของโครงการเป็นยังไง – อันนี้อาจจะต้องใช้ Google Street View เข้าช่วยครับ เพื่อเดินรอบ ๆ โครงการ เราจะได้เข้าใจว่าโครงการกรณีศึกษาของเรานั้น มีลักษณะสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร มีวิวธรรมชาติมั้ย หรือไม่จำเป็น ลูกค้าที่พักแบบประหยัดไม่พิจารณาเรื่องวิวเป็นเรื่องสำคัญ อะไรแบบนี้ครับ
.
ผมเสนอว่า ให้เราทำเป็นตารางไว้ครับ (ดูในรูปประกอบ) เป็นการไขว้กันระหว่างหัวเรื่องเก้าข้อในการเก็บข้อมูล และโรงแรมกรณีศึกษาต่าง ๆ พอเราเอามาวางร่วมกันทั้งหมด เราอาจจะเพิ่มช่องของเราเป็นช่องสุดท้ายว่าแล้วโครงการของเราจะเป็นแบบไหน หวังว่าเครื่องมือนี้จะช่วยเสริมไอเดียในการเปิดธุรกิจของคุณได้อย่างสนุกสนานครับ
.
เขียนโดย ปัตย์ ศรีอรุณ Research Plus
.

โปรเจคนี้ดี: ทำงานให้เรา หรือ ทำงานกับเรา ฝันเล็กและฝันใหญ่ ในการจัดการสำนักงานให้คนทำงานมีความสุข

โปรเจคนี้ดี: ทำงานให้เรา หรือ ทำงานกับเรา ฝันเล็กและฝันใหญ่ ในการจัดการสำนักงานให้คนทำงานมีความสุข
.
“จะดีแค่ไหนถ้าสถานที่ที่เราทำงานอยู่ทุกวันนี้เป็นพื้นที่ที่ให้ความสุขแก่เรา”
.
เราจะต้องเป็นคนที่ทำงานเก่งเท่านั้นหรือ? ถึงจะมีโอกาสได้ทำงานในองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ที่ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของทรัพยากรบุคคลมาก่อนประโยชน์ของตัวองค์กรเอง จะเป็นไปได้ไหมที่คนทำงานทุกคนจะมีสิทธิอยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ดี
.
แน่นอน มันอาจเป็นเพียงแค่ฝันสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนส่วนน้อย ฝันนั้นได้กลายเป็นจริง เพราะได้ทำงานในองค์กรหรือบริษัทที่ดีมีสุข (Happy Healthy Workplace)
.
หากเราเป็นเจ้าขององค์กร หรือกำลังคิดจะสร้างบริษัทขึ้นมา เราสามารถสร้างฝันเล็กของเราได้ โดยค่อยๆสร้างไปทีละส่วน 
.

.
ตัวอย่างฝันเล็กที่พอทำได้: สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกัน
.
Co-Working Space, Community Space, Communal Space, และ Sharing Space เหล่านี้เป็นคำที่เรียก ลักษณะพื้นที่ที่แชร์ร่วมกัน เป็นพื้นที่ทำงานส่วนกลางที่เปิดให้ใช้ได้โดยที่ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของหรือนั่งแช่ เป็นลักษณะพื้นที่การทำงานแบบไม่เป็นทางการ (Casual) อยู่ในบรรยากาศที่สบายเหมือนบรรยากาศในร้านกาแฟ มีฟังค์ชั่นในการทำงานที่หลากหลาย เช่น ทำงานเป็นกลุ่ม ทำงานเดี่ยว ทำงานกะกลางคืน ทำงาน 24 ชั่วโมง ทำงานพร้อมกับเลี้ยงสัตว์ไปด้วย เป็นต้น
.
นอกจากนี้ Co-Working Space ที่ดีมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันให้บริการด้วย เช่น สวนเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ พื้นที่สูบบุหรี่ ห้องงีบหลับ ล็อคเกอร์ไว้เก็บของ ฟิตเนส พื้นที่ทานอาหาร ปริ้นงาน และที่จอดรถ เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่ทำงานในรูปแบบ Co-Working Space ได้เข้ามาเปลี่ยนออฟฟิศรูปแบบเดิม ในหลายๆบริษัทมีการปรับปรุงพื้นที่ทำงานใหม่ สร้างใหม่เพื่อเป็น Co-Working Space แบบครบวงจร รูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้เริ่มปรับตัวไปตามเทรนและไลฟ์สไตล์ของการทำงานที่เปลี่ยนไป
.
น่าเสียดายที่องค์กรในฝันไม่ได้ต้องการเพียงแค่สถาปัตยกรรมดีๆ สภาพแวดล้อมทางกายภาพดีๆเท่านั้น แต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย
.
ขั้นแรกคือเราต้องทำการเข้าใจ ธรรมชาติขององค์กรของตนเอง แล้วหาทางพัฒนา เพื่อตอบสนององค์กรของเราให้ดีขึ้น มีสุขขึ้น อย่างเหมาะสมกับลักษณะขององค์กร
.
ตัวอย่างเช่น หากเราแบ่งประเภทของธุรกิจเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น Facebook และ Airbnb เป็นธุรกิจประเภทบริการแพลตฟอร์ม, Netflix และ Disney เป็นธุรกิจประเภทบริการภิวัฒน์ (จากเดิมที่เคยผลิตสินค้าขายเปลี่ยนไปสู่การสร้างบริการใหม่ๆ) ขายบริการผ่าน Subscription, และ Apple’s iPod และ iPhone เป็นธุรกิจประเภทที่ขายนวัตกรรม, กลุ่มธุรกิจที่อาศัยผู้ร่วมงานหรือพนักงานเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนองค์ (Employee-Centric Business) เช่น ธุรกิจการศึกษา สถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย สำนักงานสถาปนิก สำนักงานบัญชี การตลาด บริษัท IT เป็นต้น
.
เราจะพบว่าธุรกิจแต่ละประเภทมีธรรมชาติและวัฒนธรรมของการทำงานที่ไม่เหมือนกัน บางประเภทไม่เน้นพื้นที่ทำงาน บางประเภทเน้นการผลิต และบางประเภทต้องการการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ร่วมงาน การปรับปรุงหรือเพิ่มพื้นที่เพื่อทำการพัฒนาก็ต้องพิจารณาไปตามความเหมาะสมของธรรมชาติและวัฒนธรรมองค์กรด้วย เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของสำนักงานให้เป็นแบบ Creative ในองค์กรที่ต้องการระเบียบ ความถูกต้องแม่นยำ เป็นระบบมากๆ คนทำงานคงอึดอัด เช่นเดียวกับเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของที่ทำงานให้เป็นแบบ Formal มากๆ สำหรับการทำงานที่ต้องการบรรยากาศแห่งแรงบันดาลใจ
.
ตัวอย่างฝันใหญ่ : สร้างวัฒนธรรมองค์ที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรบุคคล
.
Ultimate Software เป็นบริษัทขนาดกลาง ที่ได้รับเลือกให้เป็น “บริษัท IT ที่น่าทำงานที่สุด” ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน จาก Fortune and Great Place to Work ซึ่งจัดอันดับโดยการสำรวจ Feedback ของพนักงานที่ทำงานในบริษัท IT ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 220,000 คน
.
แนวความคิดในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของ Ultimate Software คือ “People-First” เป็นนโยบายที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานที่ท้าทาย ผูกมิตรสร้างสัมพันธ์เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 25 ปีกว่า บริษัทเติบโตจากคนทำงานเพียงแค่ 4 คน จนถึงวันนี้มีกว่า 4,000 คน อะไรที่ทำให้บริษัท IT นี้เป็นองค์กรที่น่าทำงาน?
.
1) ความมุ่งมั่นตั้งใจ สร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เรากำลังทำและจะทำด้วยกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทุกคนในองค์กรคือรากฐานความสำเร็จ การสร้างวัฒนธรรมที่ยั่งยืนอาศัยเวลาสร้างเป็น 10 20 ปี คนในองค์กรต้องมีความ ”รู้สึก” เชื่อมโยงและผูกพันกันก่อน ถึงจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้
.
2) ดูแลและใส่ใจเหมือนที่เราอยากได้รับการดูแลและใส่ใจ คุณค่าของคนต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ผลลัพท์ที่ได้จะสะท้อนไปสู่เพื่อนร่วมงาน, ลูกค้าผู้ใช้บริการ, และสุดท้ายไปสู่สังคมด้วยกระบวนการของมันเอง
.
3) ความสุขในการทำงานร่วมกันเริ่มจากการพูดคุย การพูดคุยทำให้ทุกคนในองค์กรเห็นการเคลื่อนไหวและเข้าใจสถานการณ์ จนค่อยๆพัฒนาไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ และนำมาสู่การมีองค์กรให้แข็งแรง
.
4) ชื่นชมและเฉลิมฉลองไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ การแสดงความชื่นชมกับเพื่อนร่วมงานทำให้เขารู้สึกมีตัวตนในองค์กร เราทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการการยอมรับไม่ว่าจะในระดับใด หรือมากน้อยเพียงใดก็ตาม มันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม องค์กรที่ “ขาดคำชมเชย” หรือ “ขาดคำขอบคุณ” ให้พนังงาน เป็นองค์กรที่ไม่เห็นค่าของความเป็นคน
.
5) สนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ นอกองค์กร เพราะชีวิตไม่ได้มีแต่การทำงาน กิจกรรมนอกองค์กรเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดสุขภาพกายและใจที่ดีในการทำงาน สร้างความรู้สึกของความเป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชนที่สุขภาพดี เป็นชุมชนที่เป็นมิตรต่อกัน
.
ฝันเล็ก: พื้นที่ในการทำงานที่ดี และฝันใหญ่: วัฒนธรรมองค์กรที่ดี เป็นสองสิ่งที่จะช่วยผสานที่จะทำให้บริษัทของเราที่ทำอยู่ (หรือกำลังจะเกิดขึ้น) กลายเป็นพื้นที่ทำงานที่มีความสุขสำหรับทุกคน
.
เขียนโดย มานิตา ชีวเกรียงไกร เรียบเรียงโดย ปัตย์ ศรีอรุณ Research Plus

Thursday, July 18, 2019

การวิเคราะห์โปรเจคท์ในฝัน : ร้านกาแฟแบรนด์เนม vs Coworking Space vs Cat Café vs ร้านกาแฟห้องสมุดการ์ตูน กลุ่มลูกค้ากว้างหรือแคบลึก ? และแบบไหนดีกว่ากัน ?

การวิเคราะห์โปรเจคท์ในฝัน : ร้านกาแฟแบรนด์เนม vs Coworking Space vs Cat Café vs ร้านกาแฟห้องสมุดการ์ตูน กลุ่มลูกค้ากว้างหรือแคบลึก ? และแบบไหนดีกว่ากัน ?
.
หลายคนที่เริ่มต้นธุรกิจ ส่วนใหญ่จะไปโฟกัสที่สินค้าหรือบริการ เช่น เปิดร้านกาแฟ ก็ไปดูเรื่องเมล็ดกาแฟ รสชาติของกาแฟ ทำรีสอร์ทก็เน้นไปที่บรรยากาศของรีสอร์ทแบบไหนสวย แบบไหนดูพักผ่อน โดยอาจจะลืมถามตัวเองไปว่า ร้านของเราที่กำลังจะเปิดขึ้นมานั้น จะขายใคร ลูกค้าของเราเป็นคนกลุ่มไหน มีอยู่กี่กลุ่ม การเริ่มต้นทำโปรเจคท์หากเราสามารถกำหนด ความกว้าง หรือ ความลึกของการรับลูกค้าของโปรเจคท์เราได้ก่อน จะสร้างความชัดเจนให้กับรูปแบบธุรกิจของเราตั้งแต่ต้น และค่อยนำความคิดนั้นไปสู่การออกแบบรสชาติกาแฟ หรือบรรยากาศของเรา
.
แล้วไอ้ความกว้างและความลึกของลูกค้านี่มันคืออะไรกัน ? ความกว้างและความลึกที่นี้คือการที่เรามองว่า ธุรกิจ และ บริการของเรานั้น รับประเภทลูกค้าอย่างไร หากเรากำหนดให้ธุรกิจของเรามีความกว้างในเรื่องประเภทของลูกค้าหมายความว่า โปรเจคท์ของเรารองรับคนได้หลากหลายกลุ่ม เสนอสินค้าและบริการที่คนกลุ่มใหญ่น่ามีความต้องการ หากเรากำหนดให้ธุรกิจของเรามีความลึกในเรื่องประเภทของลูกค้าหมายความว่า โปรเจคท์ของเรามุ่งเน้นที่จะเสนอสินค้าบริการให้แก่คนไม่กี่กลุ่ม แต่เสนอบริการที่ตรงความต้องการมากกว่า เฉพาะกลุ่มมากกว่า อยากให้มาลองดูตัวอย่างร้านกาแฟต่าง ๆ เหล่านี้กันครับ
.

.
ร้านกาแฟแบรนด์เนมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สตาร์บัค อเมซอน วาวี เป็นร้านกาแฟที่มีกลุ่มลูกค้ากว้าง หมายถึงว่าให้บริการ คนที่ดื่มกาแฟ และขนม หรือหาที่นั่งพักผ่อน ทำงานสบายๆ ทุกเพศวัย เมนูในแต่ละร้านก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือไม่ว่าจะไปร้านไหน เราก็จะได้เมนูประมาณนี้ คือมีกาแฟ หลายรูปแบบความเข้มอ่อน มีขนม มีอาหาร มีที่นั่งแบบบาร์ ที่นั่งแบบกลุ่ม ที่นั่งแบบรวม ใคร ๆ ก็สามารถ เข้าไปใช้บริการได้ แม้แต่คนที่ไม่ดื่มกาแฟเลยก็ยังมีเครื่องดื่มอื่น ๆ ไว้บริการ เป็นโปรเจคท์ร้านกาแฟที่เน้นความทั่วไป มองลูกค้ากลุ่มใหญ่และหลากหลายเป็นหลัก
.
ในขณะเดียวกันมันยังมีร้านกาแฟที่มีกลุ่มลูกค้าที่แคบหรือลึกลงมา คอยเสนอบริการ ตั้งแต่แบบที่แคบลงมาไม่มากแต่แคบลงมากว่า ร้านกาแฟทั่ว ๆ ไปเช่น ร้านกาแฟที่เสนอตัวเองเป็นที่ดื่มกาแฟไปด้วยทำงานไปด้วยแบบ Coworking Space 24 ชั่วโมง ร้านกาแฟเหล่านี้เสนอเมนูอาหารและเครื่องดื่มใกล้เคียงกับร้านกาแฟแบรนด์เนม แต่เน้นให้ร้านสามารถตอบสนองความต้องการของคนทำงานมากกว่าร้านกาแฟแบรนด์เนม เช่น มีโต๊ะขนาดใหญ่ มีไวไฟฟรีบริการ มีที่เสียบชาร์จไฟฟรีแทบจะทุกโต๊ะ มีที่ประชุมห้องแยกออกไปไว้บริการ สำหรับคุยกัน หรือนำเสนองานลูกค้า อาจมีการกำหนดโซนด้วยเสียง เช่น ส่วนนี้โซนเงียบ โซนนี้โซนใช้เสียงได้ หรือการสร้างโซนอื่น ๆ เพิ่ม โซนพักสายตา หรือเสนอการให้เช่าพื้นที่ส่วนตัวชั่วคราวเพียงซื้อเครื่องดื่มและอาหาร ในรูปแบบของอินเตอร์เน็ตคาเฟต์ของเกาหลีหรือญี่ปุ่นที่มีลักษณะแบ่งเป็นส่วนๆ เล็ก ๆ จะเห็นว่าทั้งเมนู การแบ่งโซนต่าง ๆ ในร้านแบบ Coworking Space เป็นไปเพื่อคนหาพื้นที่ดื่มกาแฟและทำงานไปด้วย แน่นอนอว่า กลุ่มลูกค้าที่อยากดื่มกาแฟแบบร้านแบรนด์เนมทั่วไปก็สามารถไปใช้บริการได้ แต่อาจจะได้อรรถรสไม่เหมือนกัน และในบางขณะอาจรู้สึกไม่เอนจอยประสบการณ์นักเนื่องมาจากเจ้าของร้านกาแฟตัดสินใจไปแล้วจะทำร้านเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่แคบลง แต่ในทางกลับกัน ลูกค้ากลุ่มอยากทำงานในร้านกาแฟก็จะรู้สึกว่าเป็นดั่งสวรรค์ รู้สึกสะดวกสบาย และอาจทำให้เกิดการกลับมาใช้บริการบ่อยจนกลายเป็นลูกค้าประจำ
.
ตัวอย่างร้านกาแฟที่แคบหรือลึกลงมามาก ๆ ที่เราคุ้นเคยและไม่คุ้นเคยกัน เช่นร้าน Cat Café ดื่มกาแฟ ดื่มเครื่องดื่ม พร้อมเล่นกับน้องแมว กลุ่มลูกค้าเป็นที่แน่นอนว่า เจาะกลุ่ม เป็นคนรักแมวเป็นหลัก ลูกค้าที่อยากดื่มกาแฟเร็วๆ ไม่มีทางเข้าร้านแบบนี้ เด็ดขาด เมนูเครื่องดื่ม ขนม และ อาหาร นอกเหนือไปจากการพิจารณาว่ารสชาติจะเป็นอย่างไรแล้ว ยังต้องถูกคิดให้ทานได้ง่าย มีกลิ่นที่ไม่ทำให้แมวมาแย่งกิน และไม่ทำให้ร้านเลอะเทอะได้ง่าย การจัดที่นั่งของร้าน เปลี่ยนพฤติกรรมของการดื่มกินในร้านกาแฟทั่วๆไปทั้งหมด เนื่องจากต้องเอาแมวเป็นหลัก แมวต้องรู้สึกปลอดภัยถึงจะมาเล่นด้วย ต้องทำการนั่งกับพื้น ต้องสร้างพื้นที่แมวสามารถไปซ่อน หรือแอบมองจากที่สูงกว่า ซึ่งในสายตาของคนทั่วไปแล้ว สิ่งเหล่านี้คือความไม่สะดวกสบาย แต่ในสายตาของทาสแมวแล้ว สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ที่น่าจดจำ และ อาจแวะมาเป็นประจำหากเจอแมวถูกชะตา มาเล่นด้วยกันบ่อย ๆ
.
หรือ ร้านกาแฟห้องสมุดการ์ตูน ดื่มกาแฟอ่านการ์ตูนกันไปได้นานเท่าที่ใจต้องการ กลุ่มลูกค้าแน่นอนว่า ต้องเป็นคนที่ชอบอ่านการ์ตูนเป็นทุนเดิม แต่อาจจะด้วยข้อจำกัดหลายอย่างเช่น บ้านไม่มีที่เก็บ การ์ตูนบางเล่มเก่ามาหาไม่ได้ ไม่มีเงินซื้อ การซื้อเครื่องดื่มหรือขนม เป็นเสมือนบัตรผ่านแลกเข้าสู่ดินแดนของโลกหนังสือการ์ตูนจึงเป็นบริการที่โดนใจ แน่นอนว่า โซนที่นั่งต่าง ๆ ในร้านกาแฟ ต้องถูกออกแบบให้เกิดความสะดวกสบายที่สุดในการอ่านหนังสือ มีการแบ่งโซนเงียบ และ ใช้เสียงได้ที่ชัดเจน มีโซนอ่านหนังสือแบบสาธารณะและโซนอ่านหนังสือแบบส่วนตัวที่สงวนราคาที่แตกต่างกันในการเลือกเซทเมนู เช่นเดียวกับ Cat Café สำหรับคนทั่วไปแล้ว การไปร้านกาแฟห้องสมุดการ์ตูน อาจจะมีความไม่สะดวกสบายนัก ถ้าคุณไม่ใช่คนชอบอ่านการ์ตูน คุณอาจจะรู้สึกว่ามันเงียบเกินไป หรือเต็มไปด้วยข้อห้ามในการเมาท์มอย และเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่ชอบอ่านการ์ตูนที่ทำให้คุณรู้สึกแปลกแยก แต่สำหรับนักอ่านแล้ว นี่คือพื้นที่ที่จะไปใช้ในทุกวันหยุด วันละหลายชั่วโมงให้ใจได้เพลิดเพลินกับการ์ตูนที่หลากหลาย
.
มาถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่า การกำหนดความกว้างหรือแคบลึกของกลุ่มลูกค้านั้นสำคัญมากสำหรับโปรเจคท์ของเรา เพราะมันจะส่งผลต่อทุกอย่างในร้านหรือธุรกิจบริการของเรา ทำให้ร้านเป็นไปในแบบที่กลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ ต้องการ
.
มาถึงคำถามที่ว่า พอเป็นแบบนี้แล้วเราจะกำหนดธุรกิจของเรา ให้แคบลึกหรือกว้างดี ?
.
คำตอบแรกที่ทุกคนตอบหากมองในเชิงธุรกิจก็จะต้องตอบว่า กำหนดกลุ่มลูกค้าที่กว้างไว้สิ จำนวนมากกว่า กว้างกว่า โอกาสในการทำกำไรมีมากกว่าเห็นๆ ซึ่งคำตอบนี้อาจจะถูกในกรณีที่คุณกำลังจะเปิดสินค้าและบริการในย่านที่ไม่มีบริการนั้น ๆ อยู่เลย เช่น คุณเป็นเจ้าแรกที่ทำการเปิดร้านกาแฟในจังหวัดของคุณ ถ้าแบบนี้ การพิจารณากลุ่มลูกค้าที่กว้าง ก็ดูจะเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผล
.
แต่หากลองคิดถึงสถานการณ์ที่ คุณกำลังจะเปิดร้านกาแฟในซอยแห่งหนึ่ง แล้วในซอยของคุณมีร้านกาแฟอยู่แล้วสิบร้าน และในย่านนั้นมีร้านกาแฟอยู่รวมกันอีกห้าสิบร้าน การเปิดร้านกาแฟแบบกว้าง คือการเสนอสิ่งที่ทั่วไป เหมือนกับร้านอีกสิบร้านในซอย และ อีกห้าสิบร้านที่เหลือ ทำให้ร้านคุณไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจน การกำหนดกลุ่มลูกค้าให้แคบลง กลายเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ร้านเรามีเอกลักษณ์ แตกต่างจากร้านที่เหลือ เป็นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร แต่ก็ต้องแน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าที่กำหนดให้แคบลึกลงมานั้น มีปริมาณเพียงพอในการทำให้ธุรกิจเราอยู่ได้และได้กำไร
.
ไอเดียเรื่องการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงนี้เราเป็นโมเดลธุรกิจในปัจจุบันที่เราจะเห็นได้ทั่วไปในชีวิต เช่นวง BNK48 ที่เน้นกลุ่มแฟนเพลงเฉพาะ หรือ หนังที่เน้นเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้บ่าวไทบ้าน หรือหนัง LGBTQ ก็เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจแบบนี้เช่นเดียวกันครับ
.
เขียนโดย ปัตย์ ศรีอรุณ Research Plus

โปรเจคนี้ดี: ตุ๊กตาหมีสำหรับทุกคน

โปรเจคนี้ดี: ตุ๊กตาหมีสำหรับทุกคน
.
Tony Robbins ไลฟ์โค้ชชื่อดัง กล่าวว่า เราทุกคนต่างมีความต้องการ 6 อย่าง ซึ่งเป็นความต้องการที่ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ประกอบไปด้วย 1. ความแน่นอน/ความปลอดภัย, 2. ความไม่แน่นอน/ความหลากหลาย, 3. ความรู้สึกสำคัญ, 4. ความรัก/การเชื่อมต่อ, 5. การเติบโต, และ 6.การให้ โดยที่ เขาย้ำอีกว่า การทำความเข้าใจความต้องการเหล่านี้จะนำไปสู่การเกิดแนวความคิดใหม่ๆ ที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต
.
เช่นเดียวกับโลกธุรกิจ ถ้าใช้ความต้องพื้นฐานของมนุษย์เป็นฐานให้คิด ก็จะสามารถสร้างธุรกิจที่เข้าไปนั่งในใจของผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน
.
จากแนวความคิดนี้ทำให้นึกสิ่งสำคัญหนึ่ง เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กๆ - น้องตุ๊กตาหมี -


.
ตุ๊กตาหมีตัวน้อยๆที่เรากอดตอนร้องไห้ ที่ถือมันไปโรงเรียนในวันแรก ที่มีมันอยู่เป็นเพื่อนเราเล่นกับเราตลอดเวลาในยามที่ไม่มีใคร เป็นตุ๊กตาที่รักเราแบบไร้เงื่อนไข ตุ๊กตาหมีที่เรียกกันว่าเป็น วัตถุแห่งความปลอดภัย (Comfort Objects) อาจมาในรูปแบบอื่นๆ เช่น ผ้าห่มผืนเก่า กางเกงตัวโปรดที่เคยใส่ยามเด็ก ตุ๊กตาขนปุกปุยรูปสัตว์ รวมถึงของเล่น ของสะสมต่างๆ
.
ในทางจิตวิทยา Comfort Objects เป็นเหมือนตัวแทนของแม่ ใช้เป็นสื่อกลางเชื่อมความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก บ่อยครั้งเด็กกอดตุ๊กตาหมีเมื่อเผชิญกับเรื่องราวที่ไม่คาดฝันหรือเหตุการณ์ที่ไม่เป็นปกติ บ่อยครั้งแม่จะเอาตุ๊กตายื่นให้ลูกกอดก่อนนอนหลับทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจ
.
ไม่ใช่มีแค่เด็กที่ติดและผูกพันกับ Comfort Objects เท่านั้น ในวัยผู้ใหญ่ก็ติดเช่นกัน Atomik Research ร่วมกับ Build-A-Bear ทำการสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวน 2,000 คน พบว่า 40% มีตุ๊กตาข้างกายเวลานอนหลับ (และเป็นไปได้ว่าอาจจะกอดตุ๊กตานอนด้วย อิ อิ) และกว่า 56% ครอบครองตุ๊กตาตัวโปรดมานานกว่า 20 ปี และกว่า 72% วางแผนว่าจะเก็บมันไว้ไปตลอดกาล
.
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพราะสำหรับผู้ใหญ่อย่างเราบางคน ตุ๊กตาหมีมีค่าทางจิตใจมากพอๆกับวัตถุราคาแพงอื่นๆ นักจิตวิทยาเชื่อว่า Comfort Objects เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายและความไม่แน่นอนในชีวิต บางครั้งทุกๆจังหวะของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญอย่างเดียวดาย หลายคนหันไปกอดตุ๊กตาหมี พูดคุยกับมัน เล่นกับมัน การมีตุ๊กตาหมีอยู่ข้างๆก็ทำให้เหมือนเรามีเพื่อน มีสิ่งที่ให้เรายึดมั่น เราจึงรู้สึกปลอดภัย
.
ตุ๊กตาหมียังส่งเสริมความรู้สึกของการเป็นผู้ดูแล เป็นผู้เลี้ยงดูปกป้อง เป็นผู้ปกครอง (Caretakers) มันเชื่อมสัมพันธ์เราเข้ากับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของเราที่ต้องการความรักและการเป็นผู้ให้ ซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคม ตุ๊กตาหมียังเป็นสิ่งเล็กๆที่น่ารัก น่าทะนุทนอม เพราะขนาดที่เล็ก จึงไม่เป็นพิษเป็นภัยและไม่มีวันทำร้ายเรา เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำไมเราจึงรักและผูกพันกับตุ๊กตาขนปุกปุยนุ่มนิ่มตัวโปรดของเรา
.
ตุ๊กตาหมีเก็บความทรงจำ เป็นตัวอย่างธุรกิจ Startups อันหนึ่งที่น่าสนใจ เริ่มด้วยคำถามง่ายๆของลูกค้าในขณะที่มาใช้บริการอัลตร้าซาวน์ลูกตัวน้อยในครรภ์ของเธอ เธอกล่าวว่า
.
.
"จะดีแค่ไหนน้าาา...ถ้าเราสามารถบันทึกเสียงการเต้นของหัวใจของลูกน้อยของเธอด้วยตุ๊กตาหมี?"
.
.
เมื่อได้ยินดังนั้นเจ้าหน้าที่อัลตร้าซาวน์และต่อมากลายเป็นเจ้าของธุรกิจ My Baby’s Heartbeat Bear จึงเกิดไอเดียธุรกิจ ขายตุ๊กตาหมีที่สามารถฟังเสียงการเต้นของหัวใจได้ เกิดธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตุ๊กตาเก็บเสียงเต้นของหัวใจได้ให้ความรู้สึกปลอดภัยและสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่ได้รับ กลายมาเป็นของที่ระลึกสำหรับครอบครัวที่ต้องการต้อนรับสมาชิกใหม่ หรือเมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งจากไปมันก็ทำหน้าที่เป็นวัตถุเก็บความทรงจำสุดท้ายให้เราได้ระลึกถึง
.
ตุ๊กตาหมีบำบัดความเจ็บปวดและช่วยให้หลับสบาย ที่ชื่อ Nelly Packs - Nelly Cuddles กอดตุ๊กตาหมีธรรมดาอาจนอนไม่หลับ แต่ถ้าเป็นตุ๊กตาหมีบำบัดรับรองหลับสบาย
.
Theresa Nelson ออกแบบให้ตุ๊กตาสัตว์ต่างๆที่สามารถให้ความอุ่นหรือความเย็นได้ตามต้องการ เพียงนำมันไปอุ่นร้อนในไมโครเวฟหรือแช่ไว้ในตู้เย็น 15-20 นาที ในฐานะที่เธอเป็นนักนวดบำบัดมากว่า 20 ปี และได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสุขภาพทางเลือก ทำให้เธอเห็นช่องว่างของผลิตภัณฑ์ และได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เพียงใช้ในการบำบัดเท่านั้น แต่ต้องมีบรรจุภัณฑ์ที่สวย น่าใช้และทนทานด้วย จึงเป็นที่มาของไอเดียสุดเจ๋ง ตุ๊กตาหมีอุ่นๆเพื่อบรรเทาปวดทำจากวัสดุที่ปราศจากสารพิษ 100% ยังไม่หมดเท่านั้น!!! เม็ดสมุนไพรที่ถูกใส่อยู่ในตุ๊กตายังให้กลิ่นที่ช่วยในการผ่อนคลาดและลดความเครียดเวลานอนอีกด้วย
.
ทั้งสองธุรกิจทำให้เราเห็นว่า คุณค่าของตุ๊กตาหมีนอกจากที่มันเป็นวัตถุแห่งความปลอดภัยทางใจแล้ว มันยังช่วยกระตุ้นให้เราได้รู้สึกลึกทางผัสสะขึ้นไปอีก (Sensory Perceptions) และมีประโยชน์ทางกาย เช่น ความนุ่มจากผิวสัมผัส ความอุ่นของการกอดขนนุ่มๆ, เสียงที่ได้ยินเมื่อกดปุ่มบนตัวตุ๊กตา, และกลิ่นอโรมาของสมุนไพรทำให้หลับสบาย
.
และบางทีไอเดียธุรกิจใหม่ๆก็เกิดจากงานหรือสิ่งที่ทำเป็นประจำในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง ไม่ต้องไปตามหาไกลที่ไหนเลย เหมือนกับความรู้สึกปลอดภัยที่เจ้าตุ๊กตาหมีมีให้เราเสมอๆทุกครั้งที่เรากอดมัน ดังนั้นเมื่อเราโตขึ้นและจากบ้านไปอยู่ในเมืองใหญ่ก็อย่าลืมเอามันติดตัวไปด้วย อย่าทิ้งมันไว้เดียวดายให้อยู่ตามลำพัง
.
วันนี้......คุณได้กอดตุ๊กตาหมีแล้วหรือยัง จุ๊บ จุ๊บ
เขียนโดย มานิตา ชีวเกรียงไกร Research Plus

Tuesday, July 16, 2019

โปรเจคนี้ดี : ช่องว่างและการทดลอง Late Night Coffee Shop เมากาแฟยามค่ำ

โปรเจคนี้ดี : ช่องว่างและการทดลอง Late Night Coffee Shop เมากาแฟยามค่ำ
.
ในมุมมองทางธุรกิจ เมื่อมีลักษณะธุรกิจคล้ายๆกันเกิดขึ้นในย่านเดียวกันเป็นจำนวนมาก เช่น ร้านกาแฟในย่านชุมชนมหาวิทยาลัย จากอาคารเรียนในรัศมีเดินโดยรอบประมาณ 100-200 เมตร เราจะเจอร้านกาแฟประมาณ 8-9 ร้านได้ เหตุผลอะไรทำให้เราเลือกไปร้านกาแฟ A เป็นประจำ มากกว่าไปร้านกาแฟ B? เป็นเพราะรสชาติ การบริการ ราคา ระยะทาง ความสะดวกสบาย ความเอาใจใส่ โปรโมชั่น และบรรยากาศ ทางธุรกิจมุมมองเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ร้านแต่ละร้านมีความแตกต่างและเกิดลูกค้าประจำและการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้าขาจร
.

.
เมื่อมองในมุมของผู้ดื่มกาแฟ นอกเหนือจากความสม่ำเสมอของรสชาติกาแฟและการบริการในทุกๆวันที่ทำให้เรากลายเป็นขาประจำแล้ว บางครั้งเราก็คาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ใหม่หรือไม่ก็หวังว่าร้านกาแฟจะเป็นพื้นที่ให้เราได้ชาร์ทพลังเพื่อไปทำงานต่อในช่วงเวลาอื่นที่เราต้องการ
.
ถ้าไม่นับรวม Starbucks และกลุ่มร้านกาแฟที่ผูกอยู่ในการบริการอื่นๆ เช่น ในห้างสรรพสินค้า ในปั้มน้ำมัน และในเซเว่น ... ร้านกาแฟที่กล่าวถึงในกรณีนี้ คือ ร้านกาแฟสแตนด์อโลน และร้านกาแฟท้องถิ่นที่มักจะกลายเป็นร้านประจำของเรา และส่วนมากมักจะเปิดปิดที่เวลา 08.00-17.00 น. ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่าแล้วหลังจากเวลานี้ ถ้าต้องการนั่งดื่มกาแฟจะไปดื่มที่ไหน?
.
ในหลายประเทศฝั่งยุโรปมีเทรนการดื่มยามค่ำคืนหรือดื่มกาแฟหลังเวลาทำงานเป็นต้นไป และมีร้านกาแฟเปิดให้บริการถึงเวลาประมาณ 21.00 -22.00 น. ที่เรียกว่า ร้านกาแฟยามค่ำคืน Late Night Coffee Shop
.
Brew Lab เป็นร้านคาเฟ่ในเมืองเอดินเบอระ สกอตแลนด์ นำไอเดียนี้มาทดลองขยายเวลาเปิดขายกาแฟ จนถึงเวลา 21.00 น. 5 วันต่อสัปดาห์ พบว่า มีคนจำนวนมากที่ยังคงนั่งดื่มกาแฟอยู่อย่างต่อเนื่อง เจ้าของอธิบายว่า ไม่ได้เป็นเพราะเทรนด์ของการดื่มกาแฟยามค่ำคืนเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดการนั่งนาน แต่เป็นเพราะลักษณะพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนระหว่างการนั่งในบาร์และคาเฟ่ไปในตัว คุณภาพของให้บริการกาแฟประหนึ่งเหมือนการบริการและการดูแลแบบในบาร์ ยังรวมไปถึงประสบการณ์รสชาติกาแฟแบบใหม่ๆ เช่น กาแฟผสมค็อกเทล เสน่ห์ของเมนูกาแฟใหม่ๆกลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันและกลับมา
.
Hugh Duffie เจ้าของร้านกาแฟ Sandows Cold Brew ให้เหตุผลว่า คนมาดื่มกาแฟยามค่ำคืนเป็นเพราะ 1) ทางเลือกในการดื่ม กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ต้องการจะหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังคงต้องการพื้นที่ในการพบปะพูดคุยกับเพื่อน และ 2) ร้านกาแฟกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยากมา เป็น Third Space พื้นที่ระหว่างบ้านและที่ทำงาน ที่มีแอร์เย็นๆ การตกแต่งภายในสวยๆ พื้นที่ที่โดยปกติในชีวิตประวันของเราไม่มี โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มหนุ่มสาว (เราสามารถมี Moment ที่ดีได้ด้วยราคาจ่ายของกาแฟ 1 แก้ว) เพราะกาแฟโดยตัวมันเองก็ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ประกอบกับบรรยากาศชิลๆในราคาที่พอจะจ่ายได้ จึงทำให้การดื่มกาแฟเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งไม่ว่าจะดื่มในเวลาไหนก็ตาม
.
อีกประการหนึ่ง 3) เป็นตัวช่วยในการทำงาน เหตุผลในเชิงฟังค์ชั่นของการดื่มกาแฟไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็ตาม คือ เป็น Kick Starter ทำให้เราตื่น เหตุผลหนึ่งที่เราใช้บริการร้านกาแฟมากกว่าชงกาแฟกินเองที่บ้าน เพราะร้านกาแฟให้สภาวะของการเปลี่ยนผ่าน ทำหน้าที่เหมือนเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่าน (Transitional Space) เมื่อกิจกรรมอย่างหนึ่งจบลงและเรากำลังจะเริ่มกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง เราต้องการการหยุด มันเป็นจังหวะ Pause ก่อนจะไปต่อ ร้านกาแฟยามค่ำคืนสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้และเป็นที่ต้องการสำหรับคนทำงานกะกลางคืนและคนที่ต้องการทำงานต่อในช่วงกลางคืน (นั่งบนเก้าอี้ตัวโปรดกับกาแฟถ้วยเก่า ในบรรยากาศที่คุ้นเคย ช่วยสร้างโมเมนต์เริ่มต้นที่ดีในการทำงาน)
.
แต่ใช่ว่าการใช้ช่องว่างของเวลา จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จเสมอไป บางร้านทดลองเปิดแต่ต้องปิดช่วงเวลานี้ลงเพราะไม่มีลูกค้า บางวัฒนธรรมไม่ดื่มกาแฟหลัง 17.00 น. ดังนั้นเราอาจจะต้องวิเคราะห์ย่านที่ธุรกิจตั้งอยู่ก่อนว่ามีความต้องการหรือพฤติกรรมที่ตรงกับโมเดลใหม่ของเราหรือไม่ หรือถ้าต้องการความชัดเจนมากกว่านั้น เราก็สามารถทดลองทำได้ แต่อาจจะต้องเสียงบประมาณและการจัดการที่เพิ่มขึ้น
.
ในสถานการณ์ที่ร้านกาแฟผุดขึ้นอยู่ตลอด การแข่งขันย่อมสูงขึ้นเรื่อยๆ การหาช่องว่างทางการตลาดและทดลองตลาดอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในทำธุรกิจ เพียงรสชาติกาแฟอย่างเดียวอาจไม่ทำให้ร้านเราโดดเด่นเหนือคู่แข่งในประเภทเดียวกันได้
.
ดื่มกาแฟ 3 แก้วต่อวันคงไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ แต่ในบางวันเราอาจต้องการมันเพราะมันทำให้เราไปต่อ!!!
.
มานิตา ชีวเกรียงไกร Research Plus