Tuesday, July 16, 2019

การวิเคราะห์โปรเจคท์ในฝัน : ค้นหาช่องว่างสร้างธุรกิจ

การวิเคราะห์โปรเจคท์ในฝัน : ค้นหาช่องว่างสร้างธุรกิจ
.
ตอนที่แล้วได้แบ่งปันเรื่องการฝึกอ่านย่านที่ที่ดินของเราตั้งอยู่เพื่อนำความเข้าใจไปสร้างโปรเจคท์ที่เหมาะสมกับย่าน ให้ศักยภาพของย่านส่งเสริมโปรเจคท์ของเรา ใครยังไม่ได้อ่าน อ่านได้ที่นี่ครับ https://www.facebook.com/645039915990411/posts/646605972500472/
.
ในตอนนี้จะเป็นการซูมลึกลงไปในรายละเอียดอีกว่า เมื่อเราทำความเข้าใจเข้าใจย่านของที่ดินของเราเรียบร้อยแล้ว เราจะสร้างธุรกิจได้ยังไง อะไรจะเป็นตัวบอกว่า เราควรทำธุรกิจอะไรดีในที่ดินของเราที่ตั้งอยู่ในย่านนี้
.

.
ขั้นตอนต่อไปคือ เราต้องเริ่ม หา “ช่องว่าง” ของย่านที่ที่ดินเราตั้งอยู่ครับ ว่ามันมีช่องว่างอะไรบ้างครับ ซึ่งช่องว่างในที่นี้คือการที่เราเข้าไปตามหาสิ่งที่ยังไม่มีในย่าน สิ่งที่ยังขาดในย่าน เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้คนในย่าน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเราครับ ในตอนนี้จะเขียนถึงการหาช่องว่างในเรื่องประเภทธุรกิจก่อนครับ โดยลองตั้งคำถามดูครับว่า
.
Q1 : ประเภทธุรกิจอะไรในย่านที่ยังไม่มีบ้าง ?
.
Q2 : และถ้าไม่มี ทำไมมันถึงยังไม่มีประเภทธุรกิจนั้นในย่าน
.
Q3: แล้วธุรกิจที่ว่าไม่มีนี้ มันมีความต้องการซื้อหรือความต้องการใช้งานจากผู้คนในย่านมั้ย ?
.
- การทำความเข้าใจกับประเภทธุรกิจที่ยังไม่มีในย่าน ทำให้เห็นช่องว่างขนาดใหญ่ในการทำธุรกิจครับ ว่าเราอาจเป็นเจ้าแรกในย่านที่เสนอขายสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ซึ่งการเป็นเจ้าแรกก็หมายถึงโอกาสในการทำกำไรก่อน แต่เราต้องมั่นใจว่า ธุรกิจที่ว่ายังไม่มี ซึ่งเป็นช่องว่างและน่าลงทุนนี้ มีความต้องการของผู้คนในย่านจริง ๆ และความต้องการที่ว่านี้มีจำนวนมากพอ ที่จะกลายมาเป็นลูกค้า และทำให้เราสามารถเปิดธุรกิจนั้นได้
.
- เช่น หากเราลองวิเคราะห์ดูแล้วเราพบว่าในย่านของเรา ไม่มีคนขายอาหารเช้าเพื่อสุขภาพเลย และเราเริ่มสนใจว่าอยากจะเปิดร้านขาย เราต้องเริ่มสำรวจว่า แล้วประเภทธุรกิจใกล้เคียงเป็นยังไงบ้างเช่น ร้านอาหารเช้าในย่านของเรามีกี่ร้าน แบ่งเป็นกี่แนว มีลูกค้าจำนวนมากน้อยแค่ไหนในแต่ละร้าน คนแน่นขนาดต้องต่อคิว หรือ ว่างบางเวลา วันไหนในสัปดาห์คนเยอะ วันไหนในสัปดาห์คนน้อย คนน้อยช่วงกี่โมง คนแน่นช่วงไหน แต่ละร้านมีกี่ที่นั่ง บรรยากาศเป็นอย่างไร ติดแอร์ไม่ติดแอร์ นั่งทานในสวน หรือนั่งทานในอาคาร เมนูยอดนิยมคืออะไร
.
- ในขณะเดียวกัน เราก็อาจจะเริ่มไปทานอาหารเช้าร้านต่าง ๆ ในย่านของเราพร้อมลองทำการขอสัมภาษณ์คนที่ไปนั่งทานในร้านเหล่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นลูกค้าของเราในอนาคต ว่าหากมีร้านอาหารเช้าเพื่อสุขภาพคิดเห็นอย่างไร จะไปทานหรือไม่ ราคาน่าจะเป็นเท่าไหร่ เมนูน่าจะมีอะไรบ้าง บรรยากาศที่ชอบเป็นแบบไหน
.
- ซึ่งลูกค้าในอนาคตของเรานี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่ไปนั่งทานที่ร้านเพียงอย่างเดียว การไปสัมภาษณ์คนในย่านที่ซื้ออาหารเช้าข้าวเหนียวหมูปิ้งริมถนน หรือซื้ออาหารเช้าร้านสะดวกซื้อ หรือ ฟาสท์ฟู้ด ที่เราเชื่อว่าราคาใกล้เคียงกับช่องว่างของเรา ก็อาจทำให้เราเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของคนที่อาจจะมาเป็นลูกค้าเราในอนาคต ซึ่งอาจจะเปลี่ยนใจเราจากการที่คิดจะทำร้านอาหารเช้าเพื่อสุขภาพในตอนเริ่มแรก สู่การเริ่มคิดจะทำร้านขายอาหารเช้าเพื่อสุขภาพแบบไดร์ฟทรูใส่ห่อกลับบ้านแทน
.
จะเห็นว่า เมื่อเราเห็นช่องว่างเรื่องประเภทธุรกิจที่ยังไม่มีในย่านเรา แล้วเราเริ่มทำความเข้าใจจริงจัง โดยการเข้าไปคลุกวงใน เข้าไปศึกษาจากย่านที่โปรเจคท์ของเราตั้งอยู่ จะทำให้เราชัดเจนและมั่นใจได้มากขึ้นในการสร้างธุรกิจของเรา
.
เครื่องมือง่ายๆ อันหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ลองใช้ดู คือ Google Map ครับ สามารถใช้เป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการแสกนเร็วๆ ได้เลยว่า ในย่านของเรานั้นมีธุรกิจอะไรอยู่บ้าง และเมื่อเราได้ช่องว่างที่เราสนใจและคิดว่ามีโอกาสแล้วถึงค่อยลงไปเก็บละเอียดด้วยตนเองครับ
.
ในตอนหน้าจะเขียนถึงการหาช่องว่างทางธุรกิจที่มีอยู่แล้วในย่าน หรือการหาช่องว่างจากคู่แข่งที่เปิดให้บริการอยู่ในย่านของเราอยู่แล้ว ว่าต้องทำการวิเคราะห์ยังไง อย่าพลาดครับ
.
เขียนโดย ปัตย์ ศรีอรุณ Research Plus

No comments:

Post a Comment