Friday, July 19, 2019

การวิเคราะห์โปรเจคท์ในฝัน : ศึกษาโมเดลธุรกิจที่ใหม่ล่าสุด ก่อนการตัดสินใจเปิดธุรกิจจริง

การวิเคราะห์โปรเจคท์ในฝัน : ศึกษาโมเดลธุรกิจที่ใหม่ล่าสุด ก่อนการตัดสินใจเปิดธุรกิจจริง
.
บ่อยครั้งที่คนที่เริ่มลงทุนกระโจนเข้าไปทำเปิดธุรกิจใด ๆ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย อาศัยใจล้วน ๆ และ ในการเริ่มทำธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ผิดและไม่แปลกอะไร นักธุรกิจมากมายที่ประสบความสำเร็จก็เริ่มมาแนวคิดของการกระโจนลงไปแล้วไปเสี่ยงเอาข้างหน้าแบบนี้
.
แต่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารที่แค่ปลายนิ้ว เราสามารถประหยัดเวลา และ ประหยัดความเสี่ยงมากมายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำไปเรียนรู้ไป ด้วยการทำการศึกษาโมเดลธุรกิจที่เราคิดจะเปิดก่อน เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาไม่นาน ทุกคนสามารถทำได้ และมันช่วยให้ธุรกิจของเราที่คิดจะทำ ทันยุค ทันสมัย ไม่ตกเทรนด์ ยั่งยืนและไปได้กับโลกยุคที่อะไรก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้ครับ
.
วิธีการศึกษาโมเดลธุรกิจที่เราสนใจ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยผมไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านเลยครับ เพียงปรึกษาพี่ Goo ก็น่าจะได้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงพอ โดยให้เราเริ่มจากการหาดูตัวอย่าง โปรเจคท์ที่เราอยากทำ มาเป็นกรณีศึกษาครับ อาจจะเป็นโครงการที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน หรือเป็นโครงการยอดนิยม เพื่อสร้างความเข้าใจแก่เราในหลายๆ เรื่องครับ
.
ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ของธุรกิจที่เราสนใจว่า ในปัจจุบันนี้ธุรกิจที่ว่า เค้ามีแนวคิดแบบไหน เค้าให้บริการอย่างไร มันอาจจะไปไกลกว่าที่เราคิดก็ได้นะครับ และอาจจะทำให้เราสามารถเอามาปรับใช้กับโปรเจคท์ของเราได้ ซึ่งนอกเหนือไปจากเทรนด์แล้ว การเข้าไปดูรายละเอียดต่าง ๆ ของกรณีศึกษานั้น ๆ จะช่วยสร้างความเข้าใจเชิงเทคนิคให้เราได้อย่างมากมายครับ
.
ผมเสนอว่าให้ลองหาอย่างน้อยกรณีศึกษานอกประเทศสิบตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจว่าเทรนด์โลกในเรื่องประเภทธุรกิจของเรานั้นมันไปถึงไหนกันแล้วครับ และกรณีศึกษาในประเทศอีกสิบตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจว่า แล้วในไทย เทรนด์ที่กำลังได้ครับความนิยมคืออะไร เพื่อเราจะได้นำสองส่วนนี้มาพิจารณาร่วมกันครับ
.

.
ผมอยากเสนอลิสท์ง่ายๆ ที่เวลาเข้าไปศึกษาโปรเจคท์กรณีศึกษาดังนี้ครับ โดยผมขอยกตัวอย่างว่าหากเรามีไอเดียอยากเปิดโรงแรมราคาประหยัดประกอบไปด้วย จะได้นึกภาพออก
.
1. โครงการชื่ออะไร – เขียนชื่อโครงการ และประเทศไว้ครับ พร้อมปีที่สร้างเสร็จด้วยครับ เราจะได้รู้ว่ามันเก่าใหม่อย่างไร เพราะบางทีเราอาจจะพบว่ามันใหม่เกินไป ไม่เวิร์คสำหรับบ้านเรา หรือมันเก่าเกินไปไม่เหมาะก็เป็นไปได้
.
2. แนวคิด/จุดขายของโครงการคืออะไร – ลองหาอ่านดูให้เข้าใจครับ เช่นถ้าเราค้นเรื่อง โรงแรมราคาประหยัด โครงการนี้เค้าเสนอความประหยัดให้แก่ลูกค้าได้อย่างไร แตกต่างจากโรงแรมราคาประหยัดอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไร เช่น ลูกค้าเลือกได้ โดยทางโรงแรมมีลิสท์ให้เลือกได้ว่าในห้องจะเอาอุปกรณ์ความสะดวกอะไรบ้าง ผ่านการจองออนไลน์ไว้ก่อน เช่นลูกค้า A อาจจะอยากได้ทีวี อินเตอร์เน็ต ในขณะที่ลูกค้า B เน้นประหยัดที่สุด ขอห้องอย่างเดียวไม่ต้องการอะไรเลย เป็นต้น
.
3. กลุ่มลูกค้าเป็นใคร - เป็นคนชาติไหน เป็นส่วนใหญ่ อายุเท่าไหร่ มีไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร เพศไหน ลักษณะการเดินทางเป็นแบบใด เดี่ยว หรือกลุ่ม พวกเขามีอุปกรณ์อะไรติดตัวบ้าง ข้อมูลพวกนี้บางทีอาจจะหาไม่เจอในเว็บไซต์หรือเพจของโรงแรมเอง แต่เราสามารถหาอ่านได้จากเว็บรีวิวต่าง ๆ ว่าลูกค้าเป็นใครครับ และเราสามารถไปตามส่องลูกค้าต่าง ๆ ที่มารีวิวต่อ ว่าเค้ามีไลฟ์สไตล์แบบไหนได้ด้วย ซึ่งเราอาจจะพบข้อมูลอะไรดี ๆ เช่นเราอาจจะพบว่านักท่องเที่ยวที่มาพักแบบประหยัดเป็นคนรักธรรมชาติ ไม่ชอบอยู่ในพื้นที่ปรับอากาศ ให้การสนับสนุนสินค้าแบบออแกนิค ข้อมูลพวกนี้ส่งผลต่อการสร้างโปรเจคท์ของเราแน่นอนครับ เราอาจจะเลือกให้ห้องพักของเราส่วนใหญ่ ไม่มีแอร์เลยก็ได้ หรือร้านอาคารของเราเน้นสายออแกนิคไปเลยแบบนี้ครับ
.
4. ให้บริการอะไร - ห้องพักมีกี่แบบ กี่ราคา แต่ละแบบเป็นอย่างไร มีอะไรเสนอบ้าง นอกเหนือไปจากห้องพักแล้วมีอะไรอีก มีพื้นที่อำนวยความสะดวกอะไรบ้าง ลิสท์ออกมาให้หมดเลยครับ
.
5. ช่วงราคาเท่าไหร่ – ลิสท์แยกเป็นส่วนๆ เพื่อมาคำนวณเลยครับ ว่าห้องพักต่ำสุดกี่บาท อาหารต่ำสุดกี่บาท ค่าใช้จ่ายในโรงแรมต่ำสุดกี่บาท เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า ลูกค้าจ่ายให้โรงแรมกรณีศึกษาของเรากี่บาทต่อวันทั้งในแบบต่ำที่สุด และสูงที่สุด
.
6. พื้นที่อาคารเท่าไหร่ – อันนี้อาจจะต้องใช้ความรู้ทางสถาปัตยกรรมอยู่บ้างในการอ่านว่ามีขนาดพื้นที่อาคารประมาณเท่าไหร่ โดยเราอาจจะพยายามหาแปลนของอาคารกรณีศึกษามาดูครับ แล้วลองคำนวณคร่าวๆ ว่ามีขนาดเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะสามารถรู้ได้เลยว่า งบประมาณอาคารเค้าเป็นเท่าไหร่ เช่น โรงแรมสามสิบห้องพร้อมส่วนอื่นๆ เค้าใช้พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างเบื้องต้นสำหรับอาคารรวมอินทีเรียคือ แบบประหยัด คือ ตารางเมตรละ 30,000 บาท ทำให้โครงการโรงแรมสามสิบห้องใช้เงินเบื้องต้นประมาณ 30 ล้านบาท
.
7. อาคารประกอบไป ด้วยกี่ส่วนอะไรบ้าง – มาดูรายละเอียดครับว่าในโรงแรม มีส่วนอะไรบ้าง เช่น ส่วนห้องพัก ส่วนห้องอาหาร ส่วนพักผ่อนกลางแจ้ง เพื่อที่เราจะได้เอามาดูเป็นไอเดียว่า โรงแรมของเราต้องมีส่วนนั้น ๆ มั้ย เหมาะกับกลุ่มลุกค้าเรารึเปล่า
.
8. ตั้งอยู่ที่ไหน อยู่ในย่านแบบใด – นอกเหนือไปจากเรื่องโครงการที่เราเรียนรู้ได้ เรายังสามารถเรียนรู้เรื่องโลเคชั่น การเลือกที่ตั้งของเค้าได้ด้วยนะครับ ว่าเค้าอยู่ที่ไหน เช่นเราอาจจะพบว่า โรงแรมราคาประหยัดส่วนใหญ่ แบ่งเป็นสองแบบในส่วยนโลเคชั่นคือ อยู่ชานเมือง ที่ลูกค้าสามารถขับรถ และสามารถใช้ขนส่งมวลชนที่สามารถเดินทางมาจากสนามบินได้ เพราะที่ดินราคาถูก หรือ ตั้งอยู่ในเมืองแต่เป็นการนำอาคารเก่าที่หมดคุณค่าทางเศรษฐกิจมาทำการปรับปรุงเช่นเอาโรงงานเก่ามาปรับปรุง เอาโรงพยาบาลเก่ามาปรับปรุง ความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเลือก ที่ดินของโปรเจคท์ของเราได้ครับ
.
9. ลักษณะของที่ดินของโครงการเป็นยังไง – อันนี้อาจจะต้องใช้ Google Street View เข้าช่วยครับ เพื่อเดินรอบ ๆ โครงการ เราจะได้เข้าใจว่าโครงการกรณีศึกษาของเรานั้น มีลักษณะสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร มีวิวธรรมชาติมั้ย หรือไม่จำเป็น ลูกค้าที่พักแบบประหยัดไม่พิจารณาเรื่องวิวเป็นเรื่องสำคัญ อะไรแบบนี้ครับ
.
ผมเสนอว่า ให้เราทำเป็นตารางไว้ครับ (ดูในรูปประกอบ) เป็นการไขว้กันระหว่างหัวเรื่องเก้าข้อในการเก็บข้อมูล และโรงแรมกรณีศึกษาต่าง ๆ พอเราเอามาวางร่วมกันทั้งหมด เราอาจจะเพิ่มช่องของเราเป็นช่องสุดท้ายว่าแล้วโครงการของเราจะเป็นแบบไหน หวังว่าเครื่องมือนี้จะช่วยเสริมไอเดียในการเปิดธุรกิจของคุณได้อย่างสนุกสนานครับ
.
เขียนโดย ปัตย์ ศรีอรุณ Research Plus
.

No comments:

Post a Comment