Tuesday, July 16, 2019

โปรเจคนี้ดี : กระบวนการและผู้ร่วมอุดมการณ์ Lego

โปรเจคนี้ดี : กระบวนการและผู้ร่วมอุดมการณ์
.
ในตอนที่แล้ว เราได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ทำให้ไอเดียธุรกิจของ BlockBuster ต้องหยุดชะงักงันและไม่ได้ไปต่อ ในขณะที่ของ Netflix มีการปรับตัวและเชื่อมโยงแนวความคิดทางธุรกิจของตัวเองเข้ากับผู้บริโภคอยู่เสมอ (สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่าน สามารถติดตามอ่านได้ที่ โปรเจคนี้ดี ตอนที่ 1: เรียนรู้จากอดีต )
.
https://www.facebook.com/645039915990411/posts/646649109162825/
.
สำหรับในตอนที่ 2 นี้ เราจะเข้าไปดูว่าอะไรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้ธุรกิจนั้นอยู่คู่กับผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน หรือพูดง่ายๆว่า เติบโตไปพร้อมๆกับการเติบโตของผู้บริโภค ตั้งแต่เด็กยันแก่เลยทีเดียวเชียว การทำให้สดใหม่เสมอและเป็นปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นคำว่า นวัตกรรม (Innovation) แปลให้เข้าใจง่ายๆ คือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คำว่านวัตกรรมก็มักจะถูกใช้กับหลายๆศาสตร์วิชา เช่น นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์, นวัตกรรมทางการแพทย์ หรือ นวัตกรรมทางการศึกษา เช่น แพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ 
.

.
แต่ในโลกทางธุรกิจเรามักจะพูดถึง กระบวนการที่ก่อให้เกิดรูปแบบทางธุรกิจใหม่ (Business Model Innovation) การที่ธุรกิจหนึ่งๆจะอยู่รอดในหลายเจนเนอเรชั่นได้นั้น กระบวนการการดำเนินธุรกิจจะต้องเปลี่ยน จะไม่เหมือนแนวคิดของธุรกิจในรูปแบบเดิมที่เคยทำๆกันมา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะขีดขอบให้ความสำคัญเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจะต้องพัฒนา เช่น จะพัฒนาเฉพาะสินค้า หรือเฉพาะการบริการเท่านั้น ถามง่ายๆ คือ เราจะหวังผลลัพท์ใหม่ได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้ตั้งคำถามใหม่ตั้งแต่ต้น ดังนั้นถ้าใครกำลังคิดจะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ อาจลองใช้ 2 ประเด็นนี้วิเคราะห์ธุรกิจของตนเองดูได้
.
1. ให้กลับไปดูที่กระบวนการ ลองมองดูปัญหาหรือ/และศักยภาพของทั้งกระบวนการ เช่น โครงการของเรามี 10 ขั้นตอน ให้ไปดูในแต่ละขั้นตอน เราอาจมองเห็นปัญหาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เราอาจมองเห็นช่องว่างที่เป็นศักยภาพระหว่างขั้นตอน บางทีอาจจะต้องทำตัวเป็นเหมือนนักสืบ(โคนัน) เข้าไปสืบดูว่าอะไรกันแน่ที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดในธุรกิจของเรา และค่อยๆตั้งคำถามกับปัญหาเหล่านั้น ด้วยวิธีการนี้มันจะเผยให้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยมองมาก่อน และเชื่อว่าการทบทวนกระบวนการจะนำมาซึ่งการเกิด “สิ่งใหม่”
.
2. หาแนวร่วมอุดมการณ์ ความรู้ข้ามศาสตร์ข้ามแขนงวิชาจำเป็นอย่างมากในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพราะการจะทำผลิตภัณฑ์ซักชิ้นออกมาเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของคนหลายกลุ่ม มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง จำเป็นต้องอาศัยกลุ่มคนเหล่านี้ในการประกอบสร้างไอเดียนั้นออกมา แนวร่วมอุดมการณ์เป็นได้ทั้งผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น นักจิตวิทยา นักลงทุน นักคณิตศาสตร์ และเป็นได้ทั้งลูกค้าผู้ใช้สินค้าบริการ เข้ามาร่วมแจม ร่วมแชร์ไอเดีย แชร์ความต้องการต่างๆ ความรู้หลายแขนงและฐานข้อมูลจากลูกค้านี้แหละที่จะเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดไอเดียใหม่ และกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เรามักเรียกว่า Startups
.
เรามาดูตัวอย่างธุรกิจที่ปรับตัวเองและยังยืนหยัดในยุคดิจิตอลกัน
ในช่วงต้นๆ 1990s LEGO ประสบปัญหาปริมาณการขายที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้รายได้ลดลงตามไปด้วย เหมือนกับหลายๆบริษัทที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงจากยุคอนาล็อคเป็นยุคดิจิตอล สถานการณ์เช่นนี้ผลักให้ LEGO ต้องรีบปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอด LEGO จึงสร้างไอเดียใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลักโดย “เชื่อม” กระบวนการทางธุรกิจเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ระบบเปิดให้ผู้เล่นเข้ามาออกแบบชุด LEGO ของตนเอง ผ่านการประกวดแข่งขันโดยมีเงื่อนไขว่าจะใช้ชิ้นส่วนของ LEGO หรือ คอมพิวเตอร์ 3D แอพพลิเคชั่นออกแบบก็ได้ แล้วให้ผู้เล่นคนอื่นๆเข้ามาคอนเมนต์และโหวตผลงานออกแบบ ผลงานที่ได้การโหวตมากที่สุด ก็จะถูกนำไปพิจารณาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนผู้เล่นที่เป็นผู้ออกแบบผลงานที่ได้รับการโหวตก็จะได้เงินสนับสนุนเป็นรางวัล
.
ไอเดียล้ำเลิศนี้เปลี่ยนลูกค้าเป็นนักออกแบบ ลูกค้ากลายเป็นหนึ่งในกระบวนการของธุรกิจ เป็นผู้จุดประกายไอเดียใหม่ๆ เป็นไอเดียที่ได้รับการปรับแต่งจากการให้คอมเมนต์และเป็นไอเดียที่ได้รับยอมรับโดยการโหวตจากกลุ่มผู้เล่นด้วยกันเอง LEGO ได้สร้างฐานข้อมูลที่ยูนีคและเป็นปัจจุบัน ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสการพัฒนาสินค้าใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่อง สร้างระบบนิเวศน์ให้ธุรกิจตัวต่ออย่างยั่งยืน
.
เป็นเรื่องไม่ยากที่จะปรับธุรกิจเดิมให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เพราะเรามีเครื่องมือ มีเทคโนโลยี ที่รองรับอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องใช้เวลาซักหน่อยในการกลับไปทำความเข้าใจธุรกิจของตัวเอง 2 ประเด็นที่กล่าวถึงไปแล้วนั้นอาจจะพอช่วยได้ และหวังว่าไอเดียใหม่ๆจะเกิดขึ้นได้ในทุกๆวัน
.
เขียนโดย มานิตา ชีวเกรียงไกร Research Plus

No comments:

Post a Comment