Friday, July 19, 2019

โปรเจคนี้ดี: ทำงานให้เรา หรือ ทำงานกับเรา ฝันเล็กและฝันใหญ่ ในการจัดการสำนักงานให้คนทำงานมีความสุข

โปรเจคนี้ดี: ทำงานให้เรา หรือ ทำงานกับเรา ฝันเล็กและฝันใหญ่ ในการจัดการสำนักงานให้คนทำงานมีความสุข
.
“จะดีแค่ไหนถ้าสถานที่ที่เราทำงานอยู่ทุกวันนี้เป็นพื้นที่ที่ให้ความสุขแก่เรา”
.
เราจะต้องเป็นคนที่ทำงานเก่งเท่านั้นหรือ? ถึงจะมีโอกาสได้ทำงานในองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ที่ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของทรัพยากรบุคคลมาก่อนประโยชน์ของตัวองค์กรเอง จะเป็นไปได้ไหมที่คนทำงานทุกคนจะมีสิทธิอยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ดี
.
แน่นอน มันอาจเป็นเพียงแค่ฝันสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนส่วนน้อย ฝันนั้นได้กลายเป็นจริง เพราะได้ทำงานในองค์กรหรือบริษัทที่ดีมีสุข (Happy Healthy Workplace)
.
หากเราเป็นเจ้าขององค์กร หรือกำลังคิดจะสร้างบริษัทขึ้นมา เราสามารถสร้างฝันเล็กของเราได้ โดยค่อยๆสร้างไปทีละส่วน 
.

.
ตัวอย่างฝันเล็กที่พอทำได้: สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกัน
.
Co-Working Space, Community Space, Communal Space, และ Sharing Space เหล่านี้เป็นคำที่เรียก ลักษณะพื้นที่ที่แชร์ร่วมกัน เป็นพื้นที่ทำงานส่วนกลางที่เปิดให้ใช้ได้โดยที่ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของหรือนั่งแช่ เป็นลักษณะพื้นที่การทำงานแบบไม่เป็นทางการ (Casual) อยู่ในบรรยากาศที่สบายเหมือนบรรยากาศในร้านกาแฟ มีฟังค์ชั่นในการทำงานที่หลากหลาย เช่น ทำงานเป็นกลุ่ม ทำงานเดี่ยว ทำงานกะกลางคืน ทำงาน 24 ชั่วโมง ทำงานพร้อมกับเลี้ยงสัตว์ไปด้วย เป็นต้น
.
นอกจากนี้ Co-Working Space ที่ดีมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันให้บริการด้วย เช่น สวนเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ พื้นที่สูบบุหรี่ ห้องงีบหลับ ล็อคเกอร์ไว้เก็บของ ฟิตเนส พื้นที่ทานอาหาร ปริ้นงาน และที่จอดรถ เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่ทำงานในรูปแบบ Co-Working Space ได้เข้ามาเปลี่ยนออฟฟิศรูปแบบเดิม ในหลายๆบริษัทมีการปรับปรุงพื้นที่ทำงานใหม่ สร้างใหม่เพื่อเป็น Co-Working Space แบบครบวงจร รูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้เริ่มปรับตัวไปตามเทรนและไลฟ์สไตล์ของการทำงานที่เปลี่ยนไป
.
น่าเสียดายที่องค์กรในฝันไม่ได้ต้องการเพียงแค่สถาปัตยกรรมดีๆ สภาพแวดล้อมทางกายภาพดีๆเท่านั้น แต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย
.
ขั้นแรกคือเราต้องทำการเข้าใจ ธรรมชาติขององค์กรของตนเอง แล้วหาทางพัฒนา เพื่อตอบสนององค์กรของเราให้ดีขึ้น มีสุขขึ้น อย่างเหมาะสมกับลักษณะขององค์กร
.
ตัวอย่างเช่น หากเราแบ่งประเภทของธุรกิจเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น Facebook และ Airbnb เป็นธุรกิจประเภทบริการแพลตฟอร์ม, Netflix และ Disney เป็นธุรกิจประเภทบริการภิวัฒน์ (จากเดิมที่เคยผลิตสินค้าขายเปลี่ยนไปสู่การสร้างบริการใหม่ๆ) ขายบริการผ่าน Subscription, และ Apple’s iPod และ iPhone เป็นธุรกิจประเภทที่ขายนวัตกรรม, กลุ่มธุรกิจที่อาศัยผู้ร่วมงานหรือพนักงานเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนองค์ (Employee-Centric Business) เช่น ธุรกิจการศึกษา สถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย สำนักงานสถาปนิก สำนักงานบัญชี การตลาด บริษัท IT เป็นต้น
.
เราจะพบว่าธุรกิจแต่ละประเภทมีธรรมชาติและวัฒนธรรมของการทำงานที่ไม่เหมือนกัน บางประเภทไม่เน้นพื้นที่ทำงาน บางประเภทเน้นการผลิต และบางประเภทต้องการการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ร่วมงาน การปรับปรุงหรือเพิ่มพื้นที่เพื่อทำการพัฒนาก็ต้องพิจารณาไปตามความเหมาะสมของธรรมชาติและวัฒนธรรมองค์กรด้วย เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของสำนักงานให้เป็นแบบ Creative ในองค์กรที่ต้องการระเบียบ ความถูกต้องแม่นยำ เป็นระบบมากๆ คนทำงานคงอึดอัด เช่นเดียวกับเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของที่ทำงานให้เป็นแบบ Formal มากๆ สำหรับการทำงานที่ต้องการบรรยากาศแห่งแรงบันดาลใจ
.
ตัวอย่างฝันใหญ่ : สร้างวัฒนธรรมองค์ที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรบุคคล
.
Ultimate Software เป็นบริษัทขนาดกลาง ที่ได้รับเลือกให้เป็น “บริษัท IT ที่น่าทำงานที่สุด” ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน จาก Fortune and Great Place to Work ซึ่งจัดอันดับโดยการสำรวจ Feedback ของพนักงานที่ทำงานในบริษัท IT ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 220,000 คน
.
แนวความคิดในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของ Ultimate Software คือ “People-First” เป็นนโยบายที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานที่ท้าทาย ผูกมิตรสร้างสัมพันธ์เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 25 ปีกว่า บริษัทเติบโตจากคนทำงานเพียงแค่ 4 คน จนถึงวันนี้มีกว่า 4,000 คน อะไรที่ทำให้บริษัท IT นี้เป็นองค์กรที่น่าทำงาน?
.
1) ความมุ่งมั่นตั้งใจ สร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เรากำลังทำและจะทำด้วยกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทุกคนในองค์กรคือรากฐานความสำเร็จ การสร้างวัฒนธรรมที่ยั่งยืนอาศัยเวลาสร้างเป็น 10 20 ปี คนในองค์กรต้องมีความ ”รู้สึก” เชื่อมโยงและผูกพันกันก่อน ถึงจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้
.
2) ดูแลและใส่ใจเหมือนที่เราอยากได้รับการดูแลและใส่ใจ คุณค่าของคนต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ผลลัพท์ที่ได้จะสะท้อนไปสู่เพื่อนร่วมงาน, ลูกค้าผู้ใช้บริการ, และสุดท้ายไปสู่สังคมด้วยกระบวนการของมันเอง
.
3) ความสุขในการทำงานร่วมกันเริ่มจากการพูดคุย การพูดคุยทำให้ทุกคนในองค์กรเห็นการเคลื่อนไหวและเข้าใจสถานการณ์ จนค่อยๆพัฒนาไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ และนำมาสู่การมีองค์กรให้แข็งแรง
.
4) ชื่นชมและเฉลิมฉลองไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ การแสดงความชื่นชมกับเพื่อนร่วมงานทำให้เขารู้สึกมีตัวตนในองค์กร เราทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการการยอมรับไม่ว่าจะในระดับใด หรือมากน้อยเพียงใดก็ตาม มันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม องค์กรที่ “ขาดคำชมเชย” หรือ “ขาดคำขอบคุณ” ให้พนังงาน เป็นองค์กรที่ไม่เห็นค่าของความเป็นคน
.
5) สนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ นอกองค์กร เพราะชีวิตไม่ได้มีแต่การทำงาน กิจกรรมนอกองค์กรเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดสุขภาพกายและใจที่ดีในการทำงาน สร้างความรู้สึกของความเป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชนที่สุขภาพดี เป็นชุมชนที่เป็นมิตรต่อกัน
.
ฝันเล็ก: พื้นที่ในการทำงานที่ดี และฝันใหญ่: วัฒนธรรมองค์กรที่ดี เป็นสองสิ่งที่จะช่วยผสานที่จะทำให้บริษัทของเราที่ทำอยู่ (หรือกำลังจะเกิดขึ้น) กลายเป็นพื้นที่ทำงานที่มีความสุขสำหรับทุกคน
.
เขียนโดย มานิตา ชีวเกรียงไกร เรียบเรียงโดย ปัตย์ ศรีอรุณ Research Plus

No comments:

Post a Comment